วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก กาแฟไทย ใจรักษ์ป่าชิงรางวัลเลิศรัฐประเภทร่วมใจแก้จน
วันที่ 5 สิงหาคม2567 เวลา 10.00น. คณะกรรมการตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐลงพื้นที่ตรวจประเมิน ผลงาน “วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อกแก้จน กาแฟไทย ใจรักษ์ป่า” การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2567 นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลสนับสนุนแก่คณะกรรมการ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเจษฎา กาพย์ไชย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ นำเสนอข้อมูลกลุ่ม นางสุเบ็ญญา พัฒนยรรยง นายอำเภอแม่ออน กล่าวให้ข้อมูลสนับสนุน นายอาคม สมณะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้วกล่าวต้อนรับ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ นางเกษร อักษรรัตน์ เกษตรอำเภอแม่ออน นายวิรัช จันทรโรทัย ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ร่วมให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการประเมิน วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในป่าอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอแม่ออน อยู่ห่างไกลจากชุมชนเมือง การคมนาคมค่อนข้างลำบาก เดิมประกอบอาชีพ ทำสวนเมี่ยง (ชาอัสสัม) เป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้า เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและรายได้นอกจากการปลูกเมี่ยงให้แก่ราษฎรในพื้นที่ นับเป็นจุดเริ่มต้น “กาแฟของพ่อ” กาแฟบ้านป๊อก ชาวบ้านป๊อกได้ทำการปลูกกาแฟ ผสมผสานไปกับการทำสวนเมี่ยง มากกว่า 30 ปี ปัจจุบัน มีสมาชิก 26 ราย พื้นที่ปลูกกาแฟ 354 ไร่ ผลผลิต 50 ตันต่อปี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ มูลนิธิโครงการหลวง ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มาอบรมให้ความรู้ และสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามหลักหลัก BCG Model ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ มุ่งเน้นในการส่งเสริมการผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการกลุ่มได้ และสามารถต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน จากผลการดำเนินงานทำให้สมาชิกกลุ่มมีอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากการทำเมี่ยง ได้แก่ กาแฟคั่ว กาแฟสมุนไพรพร้อมชง กาแฟดริป กาแฟฟรีซดราย กาแฟแคปซูล ถ่านอัดแท่งคุณภาพสูง สครับกาแฟ ชาอัสสัม หมอนใบชา กล้วยไม้ซิมบิเดียม พลับ น้ำผึ้ง เครื่องจักรสาน การจ้างแรงงานภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว (บริการที่พัก โฮมสเตย์ ร้านกาแฟ บริการรถรับส่ง) ทำให้ปัจจุบัน มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิม 35,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เป็น 104,451 บาท/ครัวเรือน/ปี ร่วมกับการรักษา ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ จนผ่านมาตรฐาน “ชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำ” จากมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน) โดยมีเป้าหมายให้คนชุมชนอยู่ดีมีสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต