ระวังเพลี้ยจักจั่นมะม่วง (Mango leafhopper) ระยะแทงช่อดอก

ระวังเพลี้ยจักจั่นมะม่วง (Mango leafhopper) ระยะแทงช่อดอก
เพลี้ยจักจั่นที่พบระบาดอยู่มี 2 ชนิด ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายกันมาก ลำตัวมีสีเทาปนดำหรือน้ำตาลปนเทา ส่วนหัวโตและป้าน ลำตัวเรียวแหลมมาทางด้านหาง ทำให้เห็นส่วนท้องเรียวเล็ก มองดูด้านบนเหมือนรูปลิ่ม ขนาดความยาวลำตัว 5.5 – 6.5 มม. และที่แผ่นตรงเหนือริมฝีปากบนเป็นสีดำลักษณะการทำลายตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน แต่ระยะที่ทำความเสียหายมากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้ดอกแห้งและร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ ช่อดอก ผลและรอบๆ ทรงพุ่ม ทำให้มะม่วงเปียกเยิ้ม ต่อมาตามใบ ช่อดอก จะถูกปกคลุมโดยเชื้อราดำ ถ้าปกคลุมมากจะกระทบกระเทือนต่อการสังเคราะห์แสง

วิธีป้องกันกำจัด

1. พ่นด้วยสารฆ่าแมลง carbaryl (เซฟวิน 85% WP) อัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในระยะก่อนมะม่วงออกดอก 1 ครั้ง และเมื่อเริ่มแทงช่อดอก1 ครั้ง

2. ในส่วนที่มีการระบาดรุนแรงควรเปลี่ยนไปพ่นด้วยสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ คือ permethrin (แอมบุช 10% EC.) 10 มล./น้ำ 20 ลิตร Lamda-cyhalothrin L (คาราเต้ 2.5% EC.) 7 มล./น้ำ 20 ลิตร และ Cypermethrin (ริพคอร์ด 10% EC.) 10 มล./น้ำ 20 ลิตร

3. ในระยะที่ดอกมะม่วงกำลังบาน การพ่นน้ำเปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดมะม่วงดีขึ้น

4. การตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิตเป็นวิธีที่ต้องกระทำอย่างยิ่งเพราะจะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลงและทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดีขึ้น