แจ้งเตือนการระบาดโรคราแป้งในพืชตระกูลแตง

ชนิดพืชที่อาจเกิดผลกระทบ : พืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ

ระยะการเจริญเติบโตของพืช : ทุกระยะการเจริญเติบโต

ปัญหาที่ควรระวัง : โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.)

ข้อสังเกตลักษณะ/อาการที่อาจพบ

พบเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดเป็นหย่อมๆ บนใบมักพบที่ใบส่วนล่างของต้นก่อน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมอาการโรคจะกระจายทั่วทั้งใบ และลุกลามขึ้นไปยังใบส่วนบนของต้น เห็นเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวปกคลุมใบเกือบทั้งต้น ต่อมาใบค่อยๆซีดเหลืองและแห้ง หากโรคระบาดรุนแรงจะลุกลามไปยังทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นแห้งตายในที่สุด ถ้าพืชเป็นโรคในระยะติดผลอ่อน จะทำให้ผลแกร็น บิดเบี้ยว ผวขรุขระ เป็นตุ่ม หรือแผลที่เปลือก

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ดูแลและบำรุงรักษาต้นพืชให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์

2. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี

3. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาด พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรค เช่น เบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยู อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโพรพิเนบ 70 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟลูโอไพแรม + ไตรฟลอกซีสฌตรบิน 25% +25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% +25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเพนทิโอไพแรด 20 % เอสซี อัตรา 5 – 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน

4. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

อ้างอิง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดหนองบัวลำภู