17 กรกฎาคม 2025

เฝ้าระวังโรคแอนแทรคโนสมะม่วง

เตือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง โดยเฉพาะที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว เนื่องจากในบางพื้นที่มีฝนตก สภาพอากาศจึงร้อนชื้น ให้ระวังโรคแอนแทรคโนสมะม่วง ซึ่งเกิดได้กับทุกส่วนของมะม่วงและทุกระยะการเจริญเติบโต จัดเป็นโรคที่สำคัญในระยะหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการส่งไปจำหน่ายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วงที่ใช้รับประทานแบบผลสุกและเปลือกบาง จะถูกเชื้อเข้าทำลายได้ง่าย เช่นพันธุ์น้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรค ให้รีบขอคำแนะนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง

เชื้อสาเหตุ  :  เชื้อรา Colletotrichum gloesporioides Penz.

ลักษณะอาการ

            อาการที่พบสังเกตได้ด้วยตาเปล่าคือที่ใบอ่อนจะเกิดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ขนาดแผลไม่แน่นอน เมื่อแผลขยายติดกันจะเกิดอาการไหม้ บิดเบี้ยว บริเวณ ต้นอ่อน กิ่งอ่อน ก้านช่อดอกจะพบจุดแผลหรือขีดขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงประ ปราย ขยายออกตามความยาว แผลบนต้นหรือกิ่งที่อ่อนมาก ๆ จะลุกลามทำให้กิ่งแห้ง เน่าดำทั้งต้น บนก้านช่อดอก จุดแผลมักขยายเชื่อมติดกัน เกิดอาการ ก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำ และหลุดร่วง ผลแก่และผลสุกหลังเก็บเกี่ยวจะเกิดจุดแผลสีน้ำตาลถึงดำ แผลยุบตัวลึกลงไปในเนื้อผล ขนาดแผลไม่แน่นอน ลุกลามอย่างรวดเร็ว บริเวณกลางแผลอาจพบเมือกสีส้ม

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

            ๑. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

            ๒. กำจัดวัชพืชภายในสวนให้สะอาด

            ๓. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านได้ดี และตัดแต่งกิ่งก้านและใบที่เป็นโรคนำไปฝังหรือเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งของเชื้อในการแพร่ระบาดต่อไป

            ๔. พ่นสารป้องกันกําจัดเชื้อรา อัตราตามคำแนะนำในฉลาก ดังนี้

                 – ชนิดดูดซึม เช่น เบนโนมิล, คาร์เบนดาซิม, อะซอกซี่สะโตรบิน, ไธโอฟาเนท-เมทธิล และโปรคลอราช

                  – ชนิดที่ไม่ดูดซึม เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์, แมนโคเซบ, โปรพิเนบ และแคปแทน

เรื่องราวที่น่าสนใจ