ตำนานเรื่องราวที่เกี่ยวกับลำน้ำแม่แตงเล่าว่า.. ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์องค์อุปฐาก เสด็จจาริกและสั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ ทั้งหลาย จนได้บรรลุถึงเมือง ๆ หนึ่ง พระองค์ได้ประทับพักแรม ณ ยอดเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง พอรุ่งเช้าวันใหม่ ก็ได้มีพวกชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง หรือเรียกอีกชื่อว่า (ปกากะญอ) บ้านแม่ยางกุ่มได้นำข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม พร้อมกับแตงโมมาถวายพระพุทธองค์ พระอานนท์ก็นำแตงโมไปปลอกเปลือกและผ่าเป็นซีกๆ แล้วทิ้งเปลือกแตงโมลงไปในลำธาร ซึ่งต่อมาลำธารแห่งนี้ก็ปรากฏชื่อว่า “ลำน้ำแม่แตง” ในขณะที่พระพุทธองค์ได้เสวยแตงโมที่พระอานนท์นำไปถวายอยู่นั้น พระทนต์(ฟัน) ก็กระเทาระออกมา เรียกว่าแหง ด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกต่อ ๆ กันมาว่า “เวียงแหง” ซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองเป็นชาวไทยใหญ่ เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองคนสุดท้าย คือพ่อแหงชาววา มีอายุอยู่ในช่วงปี พุทธศักราช 2472 ปัจจุบันยังคงมีสถูปบรรจุอัฎฐิอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเวียงแหงและยังปรากฏคูเมือง ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของบ้านเวียงแหง เวียงแหงนั้นแต่เดิมเป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สภาพเป็นท้องที่กันดารและติดกับชายแดนประเทศเมียนมาร์(พม่า) มีสภาพค่อนข้างเป็นเมืองปิด การคมนาคมขนส่งยากลำบาก ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการปกครอง พัฒนา และการป้องกันรักษาความสงบ ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2524 ประกอบด้วย 2 ตำบล 12 หมู่บ้าน จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2536 ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งเป็น อำเภอเวียงแหง ( ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 179 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ) ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน


ข้อมูลเกี่ยวกับอำเภอเวียงแหง

อำเภอเวียงแหงที่ตั้งและอาณาเขต อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอ จังหวัด และประเทศใกล้เคียงดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์(พม่า) ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว ทิศตะวันตกนั้นติดต่อกับอำเภอปาย (จังหวัดแม่ฮองสอน) ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น อำเภอเวียงแหงได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ได้แก่

  • 1. ตำบลเมืองแหง ( Mueang Haeng ) 12 หมู่บ้าน
  • 2. ตำบลแสนไห ( Saen Hai ) 5 หมู่บ้าน
  • 3. ตำบลเปียงหลวง ( Piang Luang ) 6 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่อำเภอเวียงแหงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่

  • องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองแหงทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลแสนไห ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนไหทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเปียงหลวงทั้งตำบล

วัฒนธรรมและประเพณี อำเภอเวียงแหง มีลักษณะวัฒนธรรมผสมผสานระหว่าง ชนภาคเหนือกับชนเชื้อสายไทยใหญ่กับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เช่น

กลุ่มจีนฮ่อ กลุ่มชาวเขาเผ่าลีซอ กลุ่มชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง โดยยึดถือตามแบบการนับถือศาสนาเป็นหลัก ประเพณีที่สำคัญต่างๆ มีดังนี้

  • 1. ปอยหางนำ (กลุ่มไทยใหญ่)
  • 2. ประเพณีสงกรานต์
  • 3. สรงน้ำพระธาตุแสนไห
  • 4. ประเพณีลอยกระทง
  • 5. ประเพณีกินวอ (กลุ่มลีซอ)
  • 6. ประเพณีคริสต์มาส (กลุ่มกระเหรี่ยง)
  • 7. ประเพณีวันตรุษจีน(กลุ่มจีนฮ่อ)
  • 8. ปอยสัมต่อ (กลุ่มไทยใหญ่)
  • 9. ประเพณีเลี้ยงฝายและเลี้ยงเมือง

ประเพณีสลากภัตรและสรงน้ำพระธาตุแสนไห

ประเพณีปีใหม่ลีซู (กินวอ)