เฝ้าระวังการระบาดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
#เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ( Nilaparvata lugens (Stål) )
เป็นแมลงกลุ่มปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ทั้งนี้เต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง(เน้นการเคลื่อนที่ไปแปลงใหม่) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง(เน้นการลงทำลายในพื้นที่) ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายต้นข้าว ทั้งทางตรงและทางอ้อม
1.โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย บริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้เซลส์ท่อน้ำท่ออาหารเสียหายต้นข้าวเลยแสดงมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆ เรียก”อาการไหม้”(hopperburn) โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง
2.เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โรคใบหงิก(rice raggedstunt) มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็นต้นเตี้ยใบสีเขียวแคบและสั้นใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว
การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
1) เริ่มจากการใช้พันธุ์ต้านทาน และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก
2) ควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันกำจัดได้อย่างรวดเร็วแล้วมีประสิทธิภาพ
3) ควรกำจัดวัชพืชรอบๆแปลงเนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยเช่นเดียวกัน
4)การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินความจำเป็น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดได้
5) ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 กก. (เชื้อสด)ต่อน้ำ 20 ลิตร
6) การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด #เมื่อพบจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัวต่อกอ ปัจจุบันสารที่มีประสิทธิภาพสูงได้แก่ สารไพมีโทรซีน(กลุ่ม 9B) และสารฟลอมิคามิค(กลุ่ม29)
รองลงมาได้แก่สารบูโพรเฟซิน(กลุ่ม16) ,สารอิทิโพล (กลุ่ม2) สารในกลุ่ม 4เช่นไดโนทีฟูแรน อิมิดาคลอพริด ไทอะมีโทแซม และสารในกลุ่ม1 เช่นไอโซโพคาร์บ ฟีโนบูคาร์บ เป็นต้น
ในส่วนขอเทคนิคการพ่นสาร ควรเน้นพ่นไปยังส่วนโคนของต้นข้าวดังนั้นผู้พ่นควรกดหัวฉีดลงให้มากที่สุดขณะพ่นสารหรือการใช้โดรนพ่นสารจึงเหมาะสมในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงอาจมีการผสมสาร 2กลุ่มกลไกลการออกฤทธิ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตัดวงจรการระบาดไปก่อน(แต่ควรดูความเข้ากันได้ของสารทางกายภาพและประสิทธิภาพด้วย) และไม่ควรใช้สารเคมีชิดเดียวกันต่อเนื่องเกิน3ครั้ง
ห้ามใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดการเพิ่มระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (resurgence) เช่นสารกลุ่ม3บางตัว (ไพรีทรอยด์) และกลุ่ม 1 บางตัว (ออแกโนฟอสเฟสและคาร์บาเมต) และกลุ่ม 6 อะบาเมกติน #นอกจากนี้สามารถสังเกตุได้ที่ฉลากมุมซ้ายบนจะเขียนว่าห้ามใช้ในนาข้าวได้ครับ
