ระวัง หนอนกระทู้ผัก ในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด

ระวัง หนอนกระทู้ผัก ในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น)

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนในตอนกลางวัน มีฝนตกและลมแรงในบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น) ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือ หนอนกระทู้ผัก
หนอนระยะแรกเข้าทำลายเป็นกลุ่ม ในระยะต่อมาจะทำลายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบ ก้าน หรือเข้าทำลายในหัวกะหล่ำ การเข้าทำลายมักเกิดเป็นหย่อม ๆ ตามจุดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ และมักแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์ของหนอนกระทู้ผัก
2. ใช้วิธีกล โดยการเก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย จะช่วยลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
3. ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis (Bt) อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (WDG, WG, WP) หรือ 60–100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (SC) พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด
4. ใช้นิวเคลียร์โพลีฮีโดรซีสไวรัส หรือ เอ็นพีวีหนอนกระทู้ผัก อัตรา 40-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็กจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็วกรณีหนอนระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ติดต่อกัน 2 ครั้ง ทุก 4 วัน
5. ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร

https://www.facebook.com/photo/?fbid=302086348737253&set=a.257770309835524