การผลิตลำไยคุณภาพ (โดยนายบุญเรือน เต๋จา ประธานแปลงใหญ่ อำเภอแม่วาง)

การปลูก

          การปลูกลำไย มี ๒ ลักษณะพื้นที่

                     1. สวนลำไยปลูกในสวนสภาพที่ลุ่ม แปลงปลูกลำไยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นามาก่อน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และมีระดับน้ำใต้ดินสูง หากมีการระบายน้ำไม่ดีทำให้ต้นลำไยชะงักการเติบโต การจัดการพื้นที่ปลูกลำไยในสภาพที่ลุ่ม คือ การยกสันร่องปลูกลำไย ซึ่งต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูง โดยทำการขุดร่องน้ำ นำดินจากการขุดมาเสริมบนสันร่องเพื่อให้ระดับดินสูงขึ้น มีความกว้าง 6-8 เมตร และร่องน้ำกว้าง 1-2 เมตร นิยมปลูกเป็นแถวเดียว การปลูกลำไยบนสันร่อง ควรทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มอย่างสม่ำเสมอ และลดปัญหาโรคและแมลงศัตรูลำไย

                    2. สวนลำไยปลูกในสภาพที่ดอน ปัญหาส่วนมากที่พบในการปลูกลำไยในสภาพที่ดอน คือ ขาดแคลนน้ำ พื้นที่มีชั้นหินแข็งและปัญหาไฟป่า ดังนั้นการเตรียมพื้นที่ปลูกสภาพที่ดอน ต้องสำรวจพื้นที่สร้างแหล่งน้ำสำหรับใช้ในสวนให้เพียงพอ มีชั้นหินแข็งควรใช้เครื่องจักรทำลายชั้นหินก่อนปลูก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน อาจทำให้ลำไยชะงักการเจริญเติบโตหรือตายในที่สุด มีปัญหาลมพัดแรงทำให้ต้นโค่นล้มกิ่งหัก ควรปลูกไม้บังลม ต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้ลำไยมีทรงพุ่มเตี้ย ช่วยลดปัญหาการโค่นล้ม การใช้ไม้ไผ่ค้ำกิ่งน้อยลง นอกจากนี้ต้องทำแนวป้องกันไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง เพื่อป้องกันความเสียหายจากไฟไหม้

ผลผลิตลำไยสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 1 ครั้ง

วิธีการลดต้นทุนการผลิตลำไยคุณภาพ

          1. เก็บตัวอย่างดินในแปลง แล้วนำดินมาตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อทราบธาตุอาหารในดิน จากนั้นนำค่าวิเคราะห์ดินเบื้องต้นมาคำนาณสูตรปุ๋ยและผสมปุ๋ยใช้เอง โดยใช้แม่ปุ๋ย 3 สูตร ได้แก่ 46-0-0, 18-46-0 และ0-0-60

          2. นำจุลินทรีย์ท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตลำไยคุณภาพ โดยเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากศพก.หลัก นำประยุกต์ใช้ เนื่องจากจุลินทรีย์ท้องถิ่นเป็นจุลินทรีย์ที่ได้จากธรรมชาติในท้องถิ่นพื้นที่ตามแหล่งธรรมชาติของแต่ละตำบล

          3. การผลิตปุ๋ยหมัก โดยนำปุ๋ยคอกและใบลำไยมากองหมักรวมกัน เพื่อทดแทนการเผา ซึ่งก่อเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

          4. การผลิตสารชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย ทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช

วิธีการเพิ่มผลผลิตลำไยคุณภาพ

          การตัดช่อลำไย เพื่อให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่ ซึ่งระยะที่เหมาะสม ควรตัดในระยะที่ผลลำไยมีขนาดไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร หรือลำไยมีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วเขียว  โดยใช้กรรไกรตัดปลายช่อผลประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวช่อ หรือไว้ผลไม่เกิน 50 ผลต่อช่อ ถ้าเป็นต้นเล็กใช้กรรไกร ในกรณีที่ต้นสูงควรใช้กรรไกรด้ามยาวตัด

การตัดแต่งช่อ
การผลิตปุ๋ยหมัก
การผลิตสารชีวภัณฑ์
จุลินทรีย์ท้องถิ่น
adminmw

adminmw

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น