ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของอำเภอกัลยาณิวัฒนา

ตำนานที่เล่าสืบต่อกันมายังคงเป็นหลักฐานอ้างอิงสำคัญในการบอกเล่าที่มาของเรื่องราวต่างๆของปกาเกอะญอ โดยตำนานที่เกี่ยวข้องเรื่องของการเกิดบ้านวัดจันทร์นี้มีหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องหนึ่งนั้นมาจากการเกิดขึ้นของวัดจันทร์ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตขุนแม่แจ่ม(มือเจ๊ะคี)  ประกอบด้วย 3 ตำบล คือตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด ตำบลแจ่มหลวงแม้ไม่สามารถที่จะทราบแน่ชัดว่าตั้งขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าวัดจันทร์สร้างมานานกว่า 300 ปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ชื่อ “วัดจันทร์” มีผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าว่า บ้านวัดจันทร์ เดิมที่ไม่มีชื่อเรียกเช่นนั้น แต่ที่มีชื่อ เช่นนั้นเพราะว่ามีคนชื่อ “จันทร์” เป็นชาวล้านนาที่ถูกขับไล่ออกจากครอบครัวเพราะทำผิดจารีตประเพณีของตระกูล เดินทางมาเป็นแรมเดือนมาถึงบริเวณบ้านวัดจันทร์เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีทำเลที่เหมาะแก่การสร้างหมู่บ้านเป็นอย่างมากเพราะมีสถานที่กว้างขวางมีสายน้ำแม่แจ่มไหลผ่านทางทิศทางตะวันออกจึงตัดสินใจที่จะปักหลักอาศัยอยู่ตรงนี้แต่ในที่สุด หลังจากมาพักในบริเวณวัดจันทร์ได้ไม่นานทางบ้านเมืองล้านนาเกิดอาเพศอย่างร้ายแรง ข้าวยาก หมากแพงไม่มีผู้แก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย นายจันทร์ เท่านั้นที่จะทำให้เหตุการณ์สงบลงได้ ทางมารดาต้องให้ข้าทาสบริวารมาตามนายจันทร์ กลับเมืองล้านนาอย่างรีบด่วนเมื่อทาสบริวารของมารดามาถึงได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองล้านนาจนหมดสิ้นแต่ถูกนายจันทร์ปฎิเสธอย่างสิ้นเชิงทว่าในที่สุดนายจันทร์ ก็ทนคำขอร้องไม่ได้จึงต้องกลับตามคำสั่งมารดาแต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ระหว่างทางสองข้างทางก่อนเพื่อมิให้ตัวเองถูกแดดถูกฝน นอกจากนั้นจะกลับบนหลังคน ทางมารดาต้องให้ทาสบริวารทำตามที่ลูกขอทุกประการโดยให้มีการปลูกต้นไม้ระหว่างสองข้างทางและให้คนนอนเรียงกันให้เพื่อให้ นายจันทร์เดินข้ามจนสิ้นสุดระยะทางนายจันทร์ก็เดินทางกลับเมืองล้านนา เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยเหตุนี้ จึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านจันทร์”  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา

แต่ในขณะเดียวกันบ้านจันทร์มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น ชาวปกาเกอะญอ เรียกว่า “โข่ค่อทิ” ซึ่งคำว่า “โข่” แปลว่า  สถูป,เจดีย์,พระธาตุ   โข่ค่อทิ จึงมีความหมายว่า บ้านตีนธาตุโดยอาศัยพระเจดีย์ที่สร้างในวัดจันทร์เป็นเจดีย์องค์ที่สร้างขึ้นเป็นองค์องค์แรกจากนั้นก็สร้างเจดีย์ลูกเพิ่มอีก 2 องค์ องค์แรกตั้งอยู่ ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน มีชื่อท้องถิ่นว่า “โข่กล๊อมอ” ลูกองค์ที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีชื่อว่า “โข่โพหลู่”ทั้ง 3 องค์ นั้นสร้างในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

อีกตำนานเล่าว่าในสมัยก่อนบริเวณวัดจันทร์เป็นป่าทึบ ไม่มีผู้คนอาศัยเต็มไปด้วยแมกไม้นานาชนิด โดยเฉพาะรอบๆ บริเวณหมู่บ้านเต็มไปด้วยไม้สนจำนวนเป็นพันๆไร่  แต่บริเวณบ้านจันทร์มีสถานที่สร้างพระสถูปเจดีย์เก่าที่ปรักหักพังตลอดถึงฐานของโบสถ์และวิหารอยู่หลายแห่งชนเผ่าลัวะที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้มาสร้างทิ้งไว้ในเขตตำบลบ้านจันทร์หลายแห่ง จากนั้นชนเผ่า ลัวะ ก็อพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐาน อื่นทำให้วัดจันทร์เป็นหมู่บ้านร้างในที่สุด เหตุที่มีชื่อว่า วัดจันทร์  ก็มาจากพื้นที่นี้มี นายจันทร์ และการสร้างวัด มากมายในพื้นที่จึงมีชื่อว่า “วัดจันทร์” ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งจาริกจากประเทศพม่ามีนามว่า “หลวงพ่ออุตตมะ” มาเห็นบริเวณวัดจันทร์เป็นสถานที่สงบยิ่งนักจึงปักกลดบำเพ็ญเพียรภาวนาในขณะนั้นมีชาวบ้านขุนแม่แจ่มน้อย นามว่า พ่ออุ้ยดูลอย กับชาวบ้านห้วยตอง นามว่า พ่ออุ้ยคำหมื่น ได้มาพบหลวงอุตตมะ  กับชาวบ้านบริเวณวัดจันทร์ จึงเกิดความศรัทธาเสื่อมใสยิ่งนักจึงมาทำบุญถวายทานกับหลวงพ่ออุตตมะ เป็นประจำแต่เนื่องจากหมู่บ้านขุนแม่แจ่มน้อยและห้วยตองอยู่ไกลจากวัดจันทร์ ประกอบกับการคมนาคมมีความยากลำบากการมาทำบุญทุกวันย่อมไม่สะดวกนักจึงได้ตกลงกันว่า จะย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านจันทร์ ตอนแรกมีเพียง 4 ครอบครัว หลังจากที่ย้ายมาแล้วได้ประกาศเชิญชวนบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยกันบูรณะพระเจดีย์ใกล้จะสำเร็จหลวงพ่ออุตตมะก็ลาชาวบ้านเพื่อธุดงค์กลับประเทศพม่า และในระหว่างการเดินทางท่านได้อาพาธอย่างหนักในที่สุดท่านก็มรณะในระหว่างเดินทางจนในพุทธศักราช 2473 มีพระครูบา (เก่อจาพะโด่) เดินธุดงค์จากบ้านเมืองเป็นริมฝั่งแม่น้ำปายมาพักที่สันปันน้ำบริเวณกิ่วป่าก้างเดินผ่านบ้านหนองแดงไปยังบ้านวัดจันทร์ จึงได้มาพักค้างคืนที่วัดจันทร์เห็นพระธาตุที่สร้างไว้ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อปกาเกอะญอมือเจะคี และบริเวณใกล้เคียงทราบข่าวต่างเดินทางมากราบไหว้ท่านจึงนำชาวบ้านมาร่วมกันบูรณะพระเจดีย์ที่ยังไม่เสร็จหลังจากที่การบูรณะเสร็จสิ้นก็มีการยกยอดฉัตรโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยมีการทำบุญเฉลิมฉลองกัน 7 วัน  หลังจากเสร็จพิธีการยกยอดฉัตรครูบาศรีวิชัยก็จาริกไปทางอำเภอสะเมิงจังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ประวัติของตำบลบ้านจันทร์อีกส่วนหนึ่งได้รับการบันทึกไว้ว่าเมื่อราว พ.ศ. 2336 หรือประมาณ 218 ปีเศษๆมีครอบครัวของ นายหม่อลาเข้ามาอยู่เป็นครอบครัวแรกซึ่งเขาย้ายถิ่นฐานมาจากแม่ฮ่องสอน ต่อมาก็มีครอบครัวของ นายดูลอย และนางซุนะแฮ เข้ามาร่วมสมทบ ด้วยแต่ด้วยความเชื่อในเรื่องผี ซึ่งผู้นำแต่ละคนจะต้องเลี้ยงผีที่มีความแตกต่างกันหากอยู่ในที่เดียวกันอาจมีความผิดพลาดทำให้ผีเล่นงานได้ จึงต้องแยกกันอยู่ นายหม่อลา นายดูลอยนายซุนะแฮ จึงต้องแยกย้ายกันไปตั้งหมู่บ้าน โดยนายดูลอย ได้ตั้งอยู่ที่โข่คอทิ(บ้านวัดจันทร์) นายหม่อลา ตั้งบ้านเปลาะโด่ (บ้านเด่น) และนายซุนะแฮตั้งบ้านทีแมะก่าลา(บ้านหนองเจ็ดหน่วย) โดยคนทั้งสามยังมีความรักใครกันติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำจนราว พ.ศ. 2416 ได้มีครอบครัวคนพื้นเมืองครอบครัวหนึ่งเดินทางเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านโข่คอทิ(บ้านวัดจันทร์) ได้พบว่าในหมู่บ้านยังมีวัดเก่าและเจดีย์ที่อยู่ในภาพทรุดโทรมจึงได้เรียกผู้นำหมู่บ้านและบุคคลที่มีผู้ยอมรับนับถือจำนวน 6 คน คือ นายหม่อลา  นายดูลอย นายซุนะแฮ นายเละ นายกูและนายดำหื่น  มาปรึกษาหารือกันเพื่อทำการบูรณะซ่อมแซมเจดีย์ใหม่ทั้ง 3 องค์

อีกตำนานเล่าว่า คำว่า “วัดจันทร์” มาจากนามของแม่นางมณีจันทร์ ผู้เป็นหญิงคนรักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีหลักฐานอยู่ที่วัดน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้บันทึกไว้ว่า ในครั้งที่พระพี่นางสุพรรณกัลยาได้ถูกส่งตัวไปยังประเทศพม่า และได้เดินทางมาพำนักอยู่บริเวณเมืองปาย (ปัจจุบันคือ บริเวณวัดน้ำฮู) เป็นที่สุดท้ายก่อนจะเดินทางข้ามไปยังประเทศพม่านั้น ได้มีผู้ติดตามมาด้วยคือ แม่นางมณีจันทร์ ซึ่งแม่นางมณีจันทร์ได้รับสั่งจากสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นผู้ติดตามดูแลพระพี่นางของพระองค์ แม่นางมณีจันทร์จึงได้ปฏิญาณว่าจะปกป้องดูแลและอยู่ใกล้ชิดรับใช้พระพี่นางจนตราบชั่วชีวิต และพระพี่นางได้ทรงรับสั่งกับแม่นางมณีจันทร์ หากพระองค์มีอันเป็นไปขอให้นำพระองค์กลับมายังผืนแผ่นดินไทย ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงถูกประหารชีวิตในประเทศพม่า แม่นางมณีจันทร์จึงได้อัญเชิญเส้นพระเกศาและพระอังคารกลับมายังผืนแผ่นดินไทย โดยนำมาเก็บไว้ในพระสถูปที่วัดน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเฝ้าอยู่ดูแลตราบสิ้นชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตได้มีการสร้างสถูปเพื่อเก็บกระดูกของแม่นางมณีจันทร์ในพื้นที่บ้านจันทร์เนื่องจากพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์อยู่ห่างไกลอำเภอแม่แจ่มมาก การเดินทางยากลำบาก  ได้มีการริเริ่มขอแยกตั้งกิ่งอำเภอวัดจันทร์ ตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๖  ต่อเนื่องมาโดยตลอด

การก่อตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้การสนับสนุนการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของราษฎรในท้องที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง พร้อมทั้งมีหนังสือถึง อธิบดีกรมการปกครอง ได้โปรดพิจารณาทบทวนการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์ อีกครั้งหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ คณะกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติและได้เชิญผู้แทนของจังหวัดเชียงใหม่ (นายสุรชัย จงรักษ์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่แจ่ม ไปให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหลักการและเหตุผล ขั้นตอน วิธีดำเนินการ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา๒ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่   จึงเห็นสมควรจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังเช่นที่กระทรวงมหาดไทยเคยจัดตั้งอำเภอเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ที่ผ่านมา

วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๒ อำเภอแม่แจ่มได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอแม่แจ่ม ได้นำเรื่องการขอจัดตั้งอำเภอกรณีพิเศษแจ้งที่ประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาเสนอชื่ออำเภอ โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นเป็นการสมควรเสนอชื่ออำเภอเพื่อขอพระราชทานเรียงลำดับ ดังนี้

  • อำเภอราชนครินทร์
  • อำเภอกัลยาณิวัฒนา
  • อำเภอกัลยาณมิตราจารย์
  • อำเภอแก้วกัลยา
  • อำเภอณิวัฒนา

วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๒ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำข้อมูลพื้นฐานรายงานกรมการปกครองเพื่อเสนอขอพระราชทานชื่ออำเภอเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการประชุมประชาคมประชาชน ในพื้นที่ตามที่อำเภอเสนอ

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำหรับขอพระราชทานชื่ออำเภอ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งเป็นอำเภอ จากชื่อที่ผ่านการประชาคมแล้วหรือสุดแต่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยจังหวัดเชียงใหม่ได้รับแจ้งจากกรมการปกครองว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออำเภอ “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๒ นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกตรวจสถานที่สำหรับก่อสร้างศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๒ ตำบลแจ่มหลวง จำนวนเนื้อที่ประมาณ ๘๒ ไร่ ๒ งาน ๓๙ ตารางวา และได้มีบัญชาให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำราษฎรตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแจ่มหลวง ร่วมกันปรับปรุงสถานที่โดยการดายหญ้า ทำความสะอาดพื้นที่ เพื่อเตรียมการก่อสร้างศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๒คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา พ.ศ…. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการซึ่งจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกอบด้วยตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแจ่มหลวง และตำบลแม่แดด รวมตั้งเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา และให้อำเภอมีเขตการปกครองตามเขตตำบลเดิมแยกออกจากเขตอำเภอที่ตำบลนั้นเคยอยู่ในเขตการปกครองโดยให้ตั้งที่ว่าอำเภอที่ตำบลแจ่มหลวง และให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดเชียงใหม่

วันที่๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เรียกปะชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา ในเรื่องการเตรียม คน สถานที่ทำงาน ไฟฟ้า โทรศัพท์ ครุภัณฑ์สำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่ามีความพร้อมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ทันทีเมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนามีผลบังคับใช้ตามกฎมาย

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒อธิบดีกรมการปกครอง(นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์) และคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมในการเตรียมความพร้อมในการตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา ณ ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา(ชั่วคราว) ซึ่งใช้อาคารศูนย์ศิลปาชีพ และสภาตำบลบ้านจันทร์เดิม ในบริเวณวัดจันทร์  หมู่ที่ ๓ตำบลบ้านจันทร์  รวมทั้งได้ตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนาซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๒ ตำบลแจ่มหลวง พร้อมทั้งสั่งการให้สำนัก กอง สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เตรียมความพร้อมในแต่ละด้านเพื่อกำหนดให้เป็นศูนย์ราชการต้นแบบให้กับศูนย์ราชการอื่นทั่วประเทศ

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๕๒และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๗ ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ ๒๖ธันวาคม ๒๕๕๒เป็นต้นไป  โดยให้แยกตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบล  แม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ออกจากอำเภอดังกล่าว และรวมตั้งเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยให้ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลแจ่มหลวง  ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานี้ คือ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์