จอมทอง  เป็นอำเภอขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 112 ปี มีศักยภาพในการพัฒนาสูง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์สวยงาม มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงทำให้อำเภอจอมทองเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเกือบ 2 ล้านคน ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงคือ ดอยอินทนนท์อำเภอจอมทอง มีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องเกี่ยวกับตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร โดยในปี พ.ศ. 2443 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่ ในช่วงที่นครเชียงใหม่ว่างเจ้าผู้ครองนครอันเนื่องจากการสุรคตของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในกลุ่มหัวเมืองย่อยทางใต้ของนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้งที่ว่าการอำเภอเพื่อเป็นศูนย์กลางปกครองขึ้น ณ บริเวณบ้านท่าศาลา ริมแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอจอมทอง ซึ่งปัจจุบันคือบ้านท่าศาลา หมู่ที่ 3 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง โดยมีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ (ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร) เป็นผู้คุมการก่อสร้างด้วยตนเองและตั้งได้ชื่อตามชื่อวัดพระธาตุจอมทองว่า “อำเภอจอมทอง”

ที่ตั้ง อาณาเขต ขอบเขตการปกครอง

อำเภอจอมทองมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแม่วางและอำเภอดอยหล่อ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเวียงหนองล่องและอำเภอบ้านโฮ่ง (จังหวัดลำพูน)

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอฮอด

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม

การปกครองส่วนท้องถิ่นท้องที่อำเภอจอมทองประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

– เทศบาลตำบลจอมทอง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านหลวง ตำบลข่วงเปา และตำบลดอยแก้ว

– เทศบาลตำบลบ้านหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหลวง (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)

– เทศบาลตำบลบ้านแปะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแปะทั้งตำบล

– เทศบาลตำบลดอยแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอยแก้ว (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)

– เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสบเตี๊ยะทั้งตำบล

– เทศบาลตำบลแม่สอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่สอยทั้งตำบล

– องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลข่วงเปา (นอกเขตเทศบาลตำบลจอมทอง)

อำเภอจอมทองแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 103 หมู่บ้าน ได้แก่

– ตำบลบ้านหลวง มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 23 หมู่บ้าน

– ตำบลข่วงเปา มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 15 หมู่บ้าน

– ตำบลสบเตี๊ยะ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 21 หมู่บ้าน

– ตำบลบ้านแปะ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 20 หมู่บ้าน

– ตำบลดอยแก้ว มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่บ้าน

– ตำบลแม่สอย มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 15 หมู่บ้าน

ลักษณะทางภูมิประเทศ

ลักษณะพื้นที่อำเภอจอมทอง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบกว้าง ระหว่างริมฝั่งแม่น้ำปิง และน้ำแม่กลาง ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่นกระจายในพื้นที่ดังกล่าว พื้นที่หุบเขาเชิงเขาทางทิศตะวันตก ซึ่งใช้ประโยชน์ในการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ลำไย สำหรับบริเวณภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัย

สภาพพื้นที่

          พื้นที่สูงทางตอนกลาง ที่ราบลุ่มทางทิศเหนือ และพื้นที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของอำเภอ  ภูเขา ด้านตะวันตกมีเทือกเขาอินทนนท์ ซึ่งมียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร กั้นเขตแดนระหว่างอำเภอจอมทองและอำเภอแม่แจ่มโดยตลอด

ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศพื้นที่อำเภอจอมทอง แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู ได้แก่ – ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ – ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาเอาความหนาวเย็นจากประเทศจีนลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบน – ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมฝ่ายใต้ สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป อากาศมรสุมเมืองร้อน ช่วง พฤษภาคม – กันยายน มีฝนตกชุก ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ มีอากาศหนาวและแห้งแล้ง อุณหภูมิประมาณ 9.7 องศา สูงสุดประมาณ 39.6 องศา

การคมนาคม

อำเภอจอมทองตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ บนถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ระยะทางห่างจากเชียงใหม่ 58 กิโลเมตร[7] เส้นทางเชื่อมต่ออำเภอจอมทอง

ทางหลวงแผ่นดิน

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 จากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านเขตอำเภอจอมทองไปจนสุดเขตที่สะพานท่าข้าม ระยะทาง 88 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 จากสามแยกขึ้นดอยอินทนนท์ (จอมทอง) – แม่กลาง ระยะทาง 7.705 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1009 0202 จากแม่กลาง – ดอยอินทนนท์ ระยะทาง 38.995 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1010 จากท่าลี่ – ป่าซาง ระยะทาง 30 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1085 จากขุนกลาง – ขุนวาง ระยะทาง 25 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1088 จากด่านตรวจที่ 2 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ – แม่แจ่ม ระยะทาง 19 กิโลเมตร

– ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1103 จากบุ้งฮวด (จอมทอง) – เวียงหนองล่อง ระยะทาง 5 กิโลเมตร

แหล่งน้ำและระบบชลประทาน

อำเภอจอมทองมีลำน้ำสำคัญ ได้แก่ ลำน้ำปิง ลำน้ำแม่กลาง ลำน้ำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่เตี๊ยะ ลำน้ำแม่แต๊ะ และลำน้ำแม่สอย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับการทำการเกษตร และมีแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นสำหรับกับเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งอีกหลายแห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ เหมือง ฝาย แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

สภาพเศรษฐกิจและสังคม

ประชากรในอำเภอส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประมาณร้อยละ 85 โดยการปลูกพืช ได้แก่ ลำไย ข้าว หอมแดง กระเทียม ไม้ดอก พริก พืชผักต่างๆ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของอำเภอคือ ลำไย ที่สร้างรายได้อันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 65.12 ของรายได้รวมของครัวเรือนเกษตรกร  ส่วนรายได้เสริมมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 15  ได้แก่ การรับจ้าง และการค้าขาย

ตารางแสดงจำนวนหมู่บ้านและประชากรของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ลำดับที่ตำบลจำนวนหมู่บ้านประชากรทั้งหมด
พ.ศ. 2561 
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. 2561 
 
1.บ้านหลวง2317,0133,228 
13,785
(ทต. จอมทอง)
(ทต. บ้านหลวง)
 
2.ข่วงเปา1510,6974,736 
5,961
(ทต. จอมทอง)
(อบต. ข่วงเปา)
 
3.สบเตี๊ยะ2112,06512,065(ทต. สบเตี๊ยะ) 
4.บ้านแปะ2012,13412,134(ทต. บ้านแปะ) 
5.ดอยแก้ว95,5481,426 
4,122
(ทต. จอมทอง)
(ทต. ดอยแก้ว)
 
6.แม่สอย159,2729,272(ทต. แม่สอย) 
รวม10366,72960,768 (เทศบาล)
5,961 (อบต.)

ที่มา: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

กิ่วแม่ปาน

เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ป่า สมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย (edge effect) หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผา มีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา สองข้างจะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย) มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม

การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางจากหัวหน้าอุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหาร เข้าไปรับประทานในเส้นทาง และจะปิดเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว ไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี

โครงการหลวงอินทนนท์

ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงอินทนนท์ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวเขาเผ่าม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ ไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ เช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ สแตติส ยิบโซ เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชม แปลงปลูกดอกไม้ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ และยังสามารถแวะชม แปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ ได้ด้วย

ถ้ำบริจินดา

เป็นถ้ำใหญ่อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8.5 ของทางหลวงหมายเลข 1009 จะเห็นทางแยก ขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า นมผา มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับ ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ำจะมีป้าย ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้

น้ำตกแม่กลาง

เป็นน้ำตกในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ รอบๆ บริเวณร่มรื่นน่าพักผ่อน การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด

น้ำตกแม่เตี๊ยะ

ตั้งอยู่ที่ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติ ออบหลวง น้ำตกแม่เตี๊ยะตั้งอยู่บริเวณกลางป่าลึก ตัวน้ำตกสูงประมาณ 80 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร น้ำตกมีทั้งหมด 4 ชั้น มีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีน้ำตลอดปี ชาวสบเตี๊ยะนำน้ำจากที่นี่ไปใช้ในการเกษตร เหมาะสำหรับเป็นแหล่ง ศึกษาธรรมชาติ การเดินทาง จากเชียงใหม่โดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ถึงอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาข้างที่ว่าการอำเภอ หรือเลี้ยวขวาข้างวัดสบเตี๊ยะ มีระยะทางโดยรวม 15 กิโลเมตร หรือโดยสารรถประจำทาง เชียงใหม่-จอมทอง จากนั้นต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

น้ำตกแม่ปาน

ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 16 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 1009 ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38 ไปตามเส้นทางสายอินทนนท์-แม่แจ่ม (ทางหลวงหมายเลข 1192) ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตก แยกเข้าไปอีก 9 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังในช่วงหน้าฝนทางลำบากมาก ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น และจากจุดจอดรถต้องเดินต่อไปอีก ประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตก ที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว เบื้องล่างมีแอ่งน้ำหลายแอ่งผู้มาพักผ่อนลงอาบเล่นได้

น้ำตกแม่ยะ

เป็นน้ำตกในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีขนาดใหญ่และสวยงามแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้นๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง อีกทั้งบริเวณรอบๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาด และจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 15 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 600 เมตร

น้ำตกวชิรธาร

เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ ตาดฆ้องโยง ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 750 เมตร น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง การเดินทาง จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจาก ทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถ ลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับงามของธรรมชาติรอบด้าน ตลอดทางเดิน

น้ำตกสิริภูมิ

เป็นน้ำตกซึ่งไหลมาจากหน้าผาสูงชันเป็นทางยาว สามารถมองเห็นได้จากถนนขึ้นดอยอินทนนท์ตรงที่ทำการอุทยานฯ จะเห็นเป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า เลาลี ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง (แม้ว) เลาลี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ น้ำตก น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก

น้ำตกห้วยทรายเหลือง

เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้นๆ ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน อยู่ห่างจากถนนสายดอยอินทนนท์ – แม่แจ่ม ประมาณ 21 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าไปสภาพทางเป็นดินลูกรังช่วงหน้าฝนต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ

พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างสวยงาม

น้ำตกสิริธาร

น้ำตกสิริธารนอกจากความสวยงามของน้ำตกแล้วที่นี่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดรวมทั้งปลาหายาก เช่นปลาค้างคาว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรังผสมสนเขาและป่าดิบแล้ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญอีกด้วย

ยอดดอยอินทนนท์

จุดสิ้นสุดของเส้นทางสายนี้ เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งของสถานีเรด้าร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ (ในฐานะประเทศราชของสยามเรียกตำแหน่งนี้ว่าเจ้าผู้ครองนคร) องค์ที่ 7 ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหน ดอยหลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ขอให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่

อ่างกาหลวง

เส้นทางนี้ศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานและทุ่มเทให้กับอินทนนท์ เขาได้เสียชีวิตที่นี่ด้วยโรคหัวใจ คติข้อหนึ่งของคุณไมค์คือ รักโลกนี้เสมอไปทำงานเพื่อปกป้องแต่ต้องไม่ลืมหาความสุขจากมันด้วย

จุดชมทิวทัศน์อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 41

ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของขุนเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะยามเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมเหนือหุบเขา จากจุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริสูงเด่นอยู่คู่กัน

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า ดอยหลวง หรือ ดอยอ่างกา ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา ที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 31 เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 ถนนจอมทอง-อิทนนท์ บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณโดยรอบมีอากาศหนาวเย็น และมีธรรมชาติที่สวยงาม และมีสนามหญ้าโล่งกว้าง เหมาะแก่การพักผ่อนกางเต๊นท์

น้ำตกแม่จอน

เกิดจากห้วยแม่จอนหลวง อยู่ในเขตตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายฮอด-แม่สะเรียง ตรงกิโลเมตรที่ 9 เดินตามลำห้วยแม่จอนเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกสูงใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ ลักษณะของน้ำตกนี้เป็นหน้าผาที่กว้างใหญ่มีความสูงไม่น้อยกว่า 100 เมตร ความกว้างประมาณ 80 เมตร หินบนน้ำตกเป็นหินแกรนิตผสมหินแปรสีขาวเจือสีเทาอ่อน สูงขึ้นไปยังมีน้ำตกเล็กๆอีกสองชั้น อยู่ห่างประมาณ 500 เมตรและ 1,500 เมตรตามลำดับ

ถ้ำตอง

อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง “ดอยผาเลียบ” เป็นภูเขาหินแกรนิตและหินปูนที่มีรูปร่างเหมือนถูกผ่าครึ่งแล้วแยกกันอยู่คนละฝั่งลำน้ำแม่แปะ ซีกที่อยู่ทางฝั่งขวามีถ้ำลึกที่มีตำนานเล่าขานกันว่า ถ้ำนี้เป็นอุโมงค์หินที่มีความยาวมาก กล่าวว่าทะลุถึงดอยเชียงดาวทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ทีเดียว บริเวณปากอุโมงเป็นคูหาขนาดประมาณ 5 x 10 เมตร สูง 3 เมตร ลึกเข้าไปจากนั้นเป็นโพรงหินเล็กๆขนาดพอตัวคนคลานเข้าไปได้ สภาพภายในคูหาปากถ้ำถูกสกัดตกแต่งใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของสำนักวิปัสสนาถ้ำตอง โดยรอบๆในหุบเขาร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่าดงดิบที่มีขนาดใหญ่ๆเช่น มะม่วงป่า ตะเคียนทอง มะหาด กระท้อน หน้าถ้ำมีธารน้ำแม่แปะไหลผ่าน ต้นแม่น้ำแปะห่างจากถ้ำตองขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตรมีน้ำตกเล็กๆ เรียกว่า น้ำตกวังคำ

ถ้ำตุ๊ปู่

อยู่ในท้องที่ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง เป็นถ้ำหินปูนขนาดเล็ก ปากถ้ำแคบ กว้างยาวประมาณ 1 x 1.5 เมตร ต้องนั่งยองๆเข้าไป ภายในกว้างขวางรูปร่างค่อนข้างกลมเหมือนคนโทขนาดใหญ่ มีน้ำหยดจากเพดานถ้ำตลอดเวลา ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป ตรงเพดานค่อนข้างไปทางก้นถ้ำทะลุเป็นวงกลมใหญ่ๆ 3 ช่องติดกัน จึงทำให้ถ้ำสว่างไสวไม่มืดทึบเหมือนถ้ำโดยทั่วไป