17 กันยายน 2024

ระวัง! “โรคใบไหม้ และผลเน่า หรือโรคราน้ำฝน ในลำไย”

ระวัง !! โรคใบไหม้ และผลเน่า หรือโรคราน้ำฝน (เชื้อรา Phytophthora capsici) ในลำไย

สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกลำไย ในระยะ ติดผล รับมือโรคใบไหม้ และผลเน่า หรือโรคราน้ำฝน (เชื้อรา Phytophthora capsici) อาการที่ใบ กิ่ง และยอด ใบอ่อน กิ่งอ่อน และยอดอ่อนมีอาการไหม้สีน้ำตาลเข้ม มักพบเส้นใย สีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นปกคลุม ต่อมาส่วนที่เป็นโรคจะแห้งอย่างรวดเร็ว หากโรคระบาดรุนแรง จะทำให้ใบและยอดไหม้ทั้งต้น อาการที่ผล เปลือกของผลและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม ในระยะที่ผลยังแก่ไม่เต็มที่ผลจะแตก และเน่า มักพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นฟูคลุม และผลร่วงในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงฝนตกชุก สภาพอากาศมีความชื้นสูง หากพบโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 68% WG อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างน้อย 15 วัน

2. ทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ตัดส่วนของพืชที่เป็นโรคทุกครั้ง ก่อนนำไปใช้กับส่วนของพืชปกติ

3. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี และแสงแดดส่องถึง เป็นการลดความชื้น ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค